Home » รู้จักกับ : หมวกนิรภัย Protective Helmet มีกี่แบบ เลือกใช้อย่างไรดี
ประเภทหมวกนิรภัย

รู้จักกับ : หมวกนิรภัย Protective Helmet มีกี่แบบ เลือกใช้อย่างไรดี

321 views

เรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับ หมวกนิรภัย (Protective Helmet) และวิธีการบำรุงรักษา

หมวกนิรภัย (Protective helmet) หมายถึง หมวกที่ออกแบบเพื่อป้องกันศีรษะของผู้สวมใส่จากการตกกระแทก โดยอาจเพิ่มเติมส่วนป้องกันอื่นๆ ด้วยก็ได้ ซึ่งในที่นี้ครอบคลุมเฉพาะหมวกนิรภัยที่กันกระแทกจากด้านบน ใช้สำหรับป้องกันศีรษะจากการตกกระแทกของเครื่องมือขนาดเล็ก วัสดุขนาดเล็ก เช่น ไม้ชิ้นเล็ก สลักเกลียว แป้นเกลียว หมุดย้ำ (rivet) เป็นต้น ประกายไฟ (spark) รวมทั้งป้องกันอันตรายจากการช็อกไฟฟ้า (electric shock) ไม่ครอบคลุมหมวกนิรภัยสำหรับงานป้องกันอัคคีภัย หรือที่เราเรียกกันโดยทั่วไปว่าหมวกแข็ง

Protective-Helmet

ชนิดของ หมวกนิรภัย ตามมาตรฐาน มอก.

ชนิดของหมวกนิรภัยตามมาตรฐาน มอก. สามารถแบ่งตามการใช้งานเป็น 3 ชนิด ได้แก่

  • ชนิด E (electrical) หมายถึง หมวกนิรภัยที่ใช้ลดแรงกระแทกของวัตถุ และลดอันตรายที่อาจเกิดจากการสัมผัสกับตัวนำไฟฟ้าแรงดันสูง ทนแรงดันไฟฟ้าทดสอบ 20,000 โวลต์
  • ชนิด G (general) หมายถึง หมวกนิรภัยที่ใช้เพื่อลดแรงกระแทกของวัตถุ และลดอันตรายที่อาจเกิดจากการสัมผัสกับตัวนำไฟฟ้าแรงดันต่ำ ทนแรงดันไฟฟ้าทดสอบ 2,200 โวลต์
  • ชนิด C (conductive) หมายถึง หมวกนิรภัยที่ใช้เพื่อลดแรงกระแทกของวัตถุเท่านั้น

หมวกนิรภัยตามมาตรฐาน มอก. จะต้องมีการแสดงเครื่องหมายมาตรฐาน ตำแหน่งและขนาด โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • ให้แสดงเครื่องหมายมาตรฐานไว้ที่ผลิตภัณฑ์ และสิ่งบรรจุหีบห่อด้วยก็ได้
  • ตำแหน่งของเครื่องหมายมาตรฐานอยู่ที่ด้านหน้าหรือด้านข้างหรือด้านหลังของผลิตภัณฑ์
  • ขนาดของเครื่องหมายต้องเหมาะสมกับขนาดของผลิตภัณฑ์ และไม่น้อยกว่า 10 มิลลิเมตร ขนาดความสูงของตัวอักษรไม่น้อยกว่า 2 มิลลิเมตร
  • ให้แสดงข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (คิวอาร์โค้ด) ไว้ที่บริเวณเครื่องหมายมาตรฐาน และมีขนาดไม่น้อยกว่า 10 มิลลิเมตร

หมวกนิรภัยนอกจากมาตรฐานมอก. แล้วยังมีมาตรฐานอื่นที่เป็นที่ยอมรับสำหรับหมวกนิรภัยได้แก่

ส่วนประกอบของหมวกนิรภัย

หมวกนิรภัย 1 ใบ ประกอบด้วย

  • เปลือกหมวก ต้องมีผิวเรียบเกลี้ยง ปราศจากเสี้ยน สันแหลมคม ไม่แตก และรอยร้าว หนักไม่เกิน 440 กรัม ไม่ติดไฟ หากติดไฟต้องดับได้เองภายใน 5 วินาที
  • โครงแขวน 
  • สายรัดศีรษะ ต้องปรับเส้นรอบวงได้ไม่น้อยกว่า 13 ขนาด ตั้งแต่ 520 มิลลิเมตร ถึง 640 มิลลิเมตร 
  • สายรัดคาง ต้องกว้างไม่น้อยกว่า 13 มิลลิเมตร
  • ปีกหมวกหรือกะบังหมวก

แต่ละส่วนประกอบต้องได้รับการทดสอบตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ซึ่งในที่นี้อ้างอิงตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม

ข้อควรระวังเมื่อสวมหมวกนิรภัย

เมื่อต้องสวมหมวกนิรภัย สิ่งสำคัญคือ ต้องปฏิบัติตามข้อควรระวังต่อไปนี้เพื่อให้แน่ใจว่าหมวกนิรภัย สามารถป้องกันอันตรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • ตรวจสอบหมวกนิรภัยก่อนการใช้งานทุกครั้ง หากพบรอยแตก รอยบุบ หรือร่องรอยความเสียหายอื่นๆ ห้ามใช้งานเด็ดขาด
  • สวมหมวกนิรภัยทุกครั้งโดยปรับสายรัดให้เหมาะสม
  • ตรวจสอบให้แน่ใจว่าหมวกนิรภัยพอดีและสวมใส่สบาย หมวกนิรภัยที่หลวมหรือคับเกินไปอาจไม่สามารถป้องกันอันตรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ห้ามสวมหมวกนิรภัยกลับด้านหรือคว่ำลง เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพลดลงอย่างมาก
  • ห้ามติดสิ่งของใดๆ เข้ากับหมวกนิรภัยที่ไม่ได้รับการรับรองจากผู้ผลิต เพราะอาจทำให้ประสิทธิภาพลดลง
  • ห้ามสวมหมวกนิรภัยทับฮู้ดหรืออุปกรณ์คลุมศีรษะอื่นๆ เนื่องจากทำให้ความพอดีและลดประสิทธิภาพของหมวกนิรภัยลดลง
  • เปลี่ยนใหม่หากชำรุดหรือหมดอายุการใช้งาน

การบำรุงรักษา หมวกนิรภัย

การบำรุงรักษาหมวกนิรภัยอย่างเหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้แน่ใจว่าหมวกนิรภัยยังคงสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • ทำความสะอาดหมวกนิรภัยเป็นประจำด้วยน้ำสบู่อ่อนๆ และน้ำเปล่า หลีกเลี่ยงการใช้ตัวทำละลายหรือสารเคมีที่รุนแรง ซึ่งอาจทำให้เปลือกหมวกนิรภัยเสื่อมสภาพได้
  • เก็บหมวกนิรภัยในที่แห้งและเย็นเมื่อไม่ใช้งาน หลีกเลี่ยงการให้หมวกนิรภัยสัมผัสกับอุณหภูมิที่ร้อนจัดความชื้น หรือแสงแดดโดยตรง ซึ่งจะทำให้วัสดุเสื่อมสภาพเมื่อเวลาผ่านไป
  • เปลี่ยนหมวกนิรภัยหากได้รับแรงกระแทก แม้ว่าจะไม่เห็นความเสียหายก็ตาม ผลกระทบอาจทำให้หมวกนิรภัยมีความสามารถในป้องกันลดลง
  • เปลี่ยนหมวกนิรภัยตามที่ผู้ผลิตกำหนดหรือหากได้รับความเสียหาย
  • ห้ามดัดแปลงหรือเพิ่มเติมใดๆ กับหมวกนิรภัย เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้ผลิตเป็นการเฉพาะ
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ผลิตเสมอในการดูแลและบำรุงรักษา 

อายุการใช้งานของหมวกนิรภัยอาจแตกต่างกันไปตามการใช้งาน สภาพแวดล้อม และประเภทของกิจกรรมที่ใช้ก่อนการใช้งานทุกครั้งจึงต้องตรวจสอบสภาพของหมวกนิรภัยก่อน เพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันอันตราย

หมวกนิรภัยแบบต่างๆ

สีหมวกนิรภัย

สีของหมวกนิรภัยในปัจจุบันมีให้เห็นหลากหลายสี ซึ่งแต่ละสีที่ใช้มักจะสื่อความหมายของตำแหน่ง หน้าที่ ในการทำงานของสถานที่นั้นๆ ซึ่งไม่ได้มีมาตรฐานกำหนดที่ตายตัว แต่ที่นิยมใช้กันมีดังต่อไปนี้

  • สีขาว เป็นสีที่ใช้สำหรับผู้บริหาร ผู้จัดการ วิศวกร สถาปนิก หัวหน้างาน หรือผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง
  • สีเหลือง เป็นสีที่ใช้สำหรับพนักงานทั่วไป ผู้ใช้แรงงาน 
  • สีแดง เป็นสีที่ใช้สำหรับพนักงานดับเพลิง 
  • สีส้ม เป็นสีที่ใช้สำหรับช่างเชื่อม บุคคลที่ต้องทำงานเกี่ยวกับความร้อน
  • สีเขียว เป็นสีที่ใช้สำหรับเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน 
  • สีน้ำเงิน เป็นสีที่ใช้สำหรับช่างไม้ ช่างไฟฟ้า ช่างเทคนิค
  • สีฟ้า เป็นสีที่ใช้สำหรับช่างประปา

นอกจากนี้ยังมีหมวกนิรภัยสีอื่นๆ ขึ้นอยู่กับการใช้งานของแต่ละสถานที่ แต่ที่สำคัญในการเลือกใช้งานหมวกนิรภัยต้องได้รับมาตรฐานถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งอาจจะเป็นมาตรฐาน มอก. หรือมาตรฐานต่างประเทศก็ได้ แต่ต่องเลือกให้เหมาะสมกับลักษณะของการใช้งาน

สรุป

หมวกนิรภัย เป็นอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล ที่ใช้สวมใส่เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดกับศีรษะ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก ในการเลือกใช้งานต้องเลือกตามมาตรฐานที่กำหนด และมีขนาดพอดีกับผู้สวมใส่ เมื่อมีการใช้งานต้องได้รับการบำรุงรักษาอย่างถูกต้อง เพื่อให้อุปกรณ์สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 5620 (พ.ศ. 2562) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่อง ยกเลิกและกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หมวกนิรภัยสำหรับงานอุตสาหกรรม

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ข้อมูลที่มีประโยชน์ด้านการทำงานในอุตสาหกรรม สามารถหาข้อมูลได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย