Home » การใช้งาน : อุปกรณ์ป้องกันเสียง (Hearing protector) ใช้อย่างไรให้ถูกวิธี
อุปกรณ์ปกป้องการได้ยิน

การใช้งาน : อุปกรณ์ป้องกันเสียง (Hearing protector) ใช้อย่างไรให้ถูกวิธี

788 views

ประโยชน์ของการใช้ อุปกรณ์ป้องกันเสียงดัง (Hearing protector)

อุปกรณ์ป้องกันเสียงดัง ขณะทำงาน ปกป้องการได้ยิน (Hearing protector) หมายถึง อุปกรณ์ที่ผู้ปฏิบัติงานสวมใส่เพื่อป้องกันผลกระทบที่ไม่ต้องการต่อการได้ยินอันเนื่องมาจากการกระตุ้นของเสียงอาจรวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับการสื่อสารหรืออุปกรณ์ที่ออกแบบมาสำหรับลดระดับเสียงระหว่างอุปกรณ์ปกป้องการได้ยินและหูชั้นกลาง 

ประเภทของ อุปกรณ์ปกป้องการได้ยิน หรือ อุปกรณ์ป้องกันเสียงดัง

อุปกรณ์ปกป้องการได้ยิน แบ่งตามลักษณะของการใช้งานเป็น 2 ประเภท คือ ปลั๊กอุดหูลดเสียง (ear plugs) และครอบหูลดเสียง (ear muffs) ซึ่งจะอธิบายรายละเอียดดังต่อไปนี้

Ear-Plugs

อุปกรณ์ป้องกันเสียงมี 2 ประเภท ดังนี้

  • ชนิดปรับตัวให้แนบกระชับช่องหูได้ (formable ear plugs) ทำจากวัสดุที่สามารถบีบคลึงด้วยปลายนิ้วหรือฝ่ามือให้มีรูปร่างเป็นทรงกระบอกขนาดเล็กสามารถสอดเข้าไปในช่องหูได้ หลังจากนั้นจะขยายตัวให้กระชับพอดีกับช่องหู เช่น โฟมอุดหูลดเสียง
  • ชนิดขึ้นรูปพร้อมใช้ (pre-molded ear plugs) ทำจากซิลิโคน พลาสติก หรือยาง มีรูปร่างพร้อมใช้งาน โดยทั่วไปมีขนาดเล็ก กลาง และใหญ่

Ear-Muffs

ครอบหูลดเสียง

เป็นชนิดที่ปิดครอบทั้งใบหู รวมถึงชนิดที่มีวิทยุสื่อสารในตัว และชนิดติดกับหมวกนิรภัย ผู้ที่มีเครา จอนยาวหรือสวมแว่นตา หากสวมที่ครอบหูลดเสียงอาจปิดครอบหูได้ไม่แนบสนิท และทำให้ประสิทธิภาพในการลดเสียงลดลง

การเลือกใช้ อุปกรณ์ป้องกันเสียงดัง

อุปกรณ์ป้องกันการได้ยิน ปัจจุบันมีให้เลือกใช้งานหลากหลาย และสามารถหาซื้อได้ง่าย ซึ่งในการเลือกใช้อุปกรณ์มีหลักในการพิจารณาดังนี้

  • ผ่านการทดสอบตามมาตรฐานระหว่างประเทศหรือมาตรฐานระดับประเทศ เช่น ISO ANSI S3.19 ANSI S12.6 และได้รับการรับรองโดยหน่วยงานซึ่งเป็นที่ยอมรับ
  • มีผลการทดสอบหาระดับเสียงที่อุปกรณ์ปกป้องการได้ยินลดทอน และค่าทางสถิติจากผลการทดสอบแนบมากับผลิตภัณฑ์ทุกชิ้น หรือมีค่าอัตราการลดทอนเสียงบนบรรจุภัณฑ์
  • มีวิธีการใช้ ดูแล และบำรุงรักษา แนบมาด้วย
  • ไม่ขัดขวางการได้ยินเสียงสื่อสารที่สำคัญ
  • การยอมรับของผู้สวมใส่
  • สวมใส่ง่าย
  • ไม่ขัดขวางการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายประเภทอื่น
  • ให้ความสบายขณะสวมใส่

และสิ่งที่ควรพิจารณาที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ เลือกให้เหมาะสมกับประเภทของผลิตภัณฑ์ เช่น หากเป็นโรงงานผลิตอาหารควรพิจารณาเลือกใช้ชนิดที่มีโลหะเป็นส่วนผสมเพื่อให้สามารถคัดแยกได้ ในกรณีที่อุปกรณ์ตกลงไปปนเปื้อนในอาหาร

การใช้อุปกรณ์ปกป้องการได้ยินอย่างถูกวิธี

นอกจากการเลือกใช้อุปกรณ์ต้องเหมาะสมกับลักษณะของการใช้งาน การใช้อย่างถูกวิธีก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน เพื่อให้อุปกรณ์นั้นสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยมีวิธีการใช้งาน ดังนี้

ชนิดปรับตัวให้แนบกระชับช่องหู  มีวิธีการสวมใส่ดังนี้

  • คลึงหรือบีบปลั๊กอุดหูด้วยปลายนิ้วให้สามารถสอดเข้าไปในหูได้
  • อ้อมแขนซ้ายไปด้านหลังศีรษะ ดึงใบหูขวาขึ้นเฉียงไปทางด้านหลัง และใส่ปลั๊กอุดหูเข้าช่องหูขวา
  • ใช้ปลายนิ้วชี้ดันปลั๊กอุดหูไว้ประมาณ 30 วินาที เมื่อปลั๊กอุดหูขยายตัวปิดช่องหูจึงปล่อยนิ้ว 
  • ใส่ปลั๊กอุดหูในช่องหูด้านซ้ายด้วยวิธีเดียวกัน

ชนิดขึ้นรูปพร้อมใช้ มีวิธีการสวมใส่เช่นเดียวกับชนิดปรับตัวให้แนบกระชับช่องหู เพียงแต่ไม่ต้องคลึงปลั๊กให้มีขนาดเล็กก่อนใส่ และการถอดให้ค่อยๆ ดึงปลั๊กอุดหูออก

ชนิดครอบหูลดเสียง  มีวิธีการสวมใส่ดังนี้

  • รวบผมไม่ให้ปิดใบหู สวมที่ครอบหูให้ปิดครอบใบหู
  • ปรับสายคาดให้อยู่บนศีรษะ หรือที่ท้ายทอย หรือใต้คาง ตามแบบที่ผู้ผลิตแนะนำ
  • กดที่ครอบหูให้แนบสนิทและขยับสายคาดให้กระชับ

การดูแลและการบำรุงรักษา

อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลทุกประเภท เมื่อมีการใช้งานจะต้องได้รับการบำรุงรักษาอย่างถูกวิธี รวมถึงการตรวจเช็คสภาพอุปกรณ์ว่าอยู่ในสภาพดีพร้อมใช้งานหรือไม่ ต่อไปนี้คือวิธีการดูแลรักษาอุปกรณ์ชนิดปรับตัวให้แนบกระชับช่องหู 

  • ล้างทำความสะอาดในน้ำสบู่อุ่นๆ และล้างสบู่ออกให้สะอาด บีบน้ำออกจากปลั๊กอุดหู ปล่อยให้แห้งสนิทในที่ร่ม สามาถทำซ้ำได้หลายครั้ง
  • ทิ้งปลั๊กอุดหูลดเสียงหากไม่กระชับช่องหู หรือไม่สามารถพองตัวมีขนาดเท่าเดิม หรือสกปรกจนไม่สามารถทำความสะอาดได้

ชนิดขึ้นรูปพร้อมใช้

  • ล้างทำความสะอาดในน้ำสบู่อุ่นๆ และล้างสบู่ออกให้สะอาด ผึ่งให้แห้งบนพื้นผิวที่สะอาด
  • ทิ้งปลั๊กอุดหูลดเสียงเมื่อชำรุด ฉีกขาด หรือเมื่อสกปรกจนไม่สามารถทำความสะอาดได้

ชนิดครอบหูลดเสียง  

  • ตรวจสอบสภาพอุปกรณ์ก่อนใช้งานทุกครั้ง
  • เมื่อพบชิ้นส่วนชำรุดให้เปลี่ยนชิ้นส่วนของอุปกรณ์ที่ชำรุดหากทำได้ หรือเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่
  • ถอดชิ้นส่วนของครอบหูลดเสียงออกก่อนทำความสะอาด
  • ล้างครอบหูลดเสียงด้วยน้ำสบู่อ่อนในน้ำอุ่น ใช้แปรงขนอ่อนขัดทำความสะอาดส่วนที่สกปรก แล้วล้างสบู่ออกด้วยน้ำอุ่นให้สะอาด โดยไม่ทำให้วัสดุลดทอนเสียงที่อยู่ในครอบหูเปียกน้ำ
  • เช็ดให้แห้งด้วยผ้าสะอาด บรรจุในถุงพลาสติกป้องกันฝุ่น และเก็บไว้ในตู้สำหรับเก็บอุปกรณ์โดยเฉพาะ

สรุป

อุปกรณ์ป้องกันการได้ยินเป็นอุปกรณ์สวมทับหรือสอดเข้าไปในหูเพื่อลดปริมาณเสียงที่เข้าสู่หูและไปถึงแก้วหู ได้แก่ ที่อุดหูลดเสียงและที่ครอบหูลดเสียง อุปกรณ์เหล่านี้สามารถช่วยป้องกันการสูญเสียการได้ยินที่เกิดจากการสัมผัสกับเสียงดัง ซึ่งการเลือกใช้อุปกรณ์ต้องมีมาตรฐานตามที่กำหนด และผู้ใช้งานต้องได้รับการอบรมถึงวิธีการใช้งานรวมถึงการบำรุงรักษาที่ถูกต้อง เพื่อให้สามารถใช้งานอุปกรณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 4456 (พ.ศ. 2555) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐาน ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่อง กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ข้อแนะนำในการเลือก การใช้ การดูแล และการบำรุงรักษาอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล เล่ม 1 อุปกรณ์ปกปป้องการได้ยิน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ข้อมูลที่มีประโยชน์ด้านการทำงานในอุตสาหกรรม สามารถหาข้อมูลได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย